วิธีปลูกข้าวโพดฝักอ่อน การป้องกันโรคต่างๆ การเก็บเกี่ยว

รวมความรู้ ทิป และเทคนิคทั่วไป
Sunflower_Man
Jr. Member
Jr. Member
โพสต์: 78
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 06 มิ.ย. 2012 3:45 pm

วิธีปลูกข้าวโพดฝักอ่อน การป้องกันโรคต่างๆ การเก็บเกี่ยว

โพสต์โดย Sunflower_Man » เสาร์ 14 ก.ค. 2012 6:26 pm

วิธีปลูกข้าวโพดฝักอ่อน การป้องกันโรคต่างๆ การเก็บเกี่ยว
ข้าวโพดฝักอ่อน.jpg
ข้าวโพดฝักอ่อน

1. การผลิตข้าวโพดฝักอ่อนปลอดภัยจากสารพิษ

ศัตรูของข้าวโพดฝักอ่อนและการป้องกันกำจัด

1. โรคที่สำคัญและการป้องกันกำจัด

โรคราน้ำค้าง หรือ โรคใบลาย
สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา
ลักษณะอาการ ใบอ่อนจะมีทางสีขาว เขียวอ่อน หรือเหลืองอ่อน เกิดจากฐานใบถึงปลายใบ ทางดังกล่าวอาจจะยาวติดต่อกันไปหรือขาดเป็นช่วง บางครั้งพบลักษณะอาการเป็นปื้นสีขาวจากฐานใบไปยังปลายใบ ข้าวโพดที่เป็นโรคในระยะต้นกล้า ต้นที่เป็นโรคเมื่อโตแล้วอาจแห้งตายก่อนออกดอกออกฝัก ต้นที่สามารถออกดอกได้แต่จะไม่มีฝักหรือฝักไม่สมบูรณ์ มีเมล็ดจำนวนน้อยหรือไม่มีเมล็ดเลย
การแพร่ระบาด โรคเริ่มระบาดต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม ไปจนสิ้นฤดูฝน อุณหภูมิต่ำและความชื้นสูง มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเชื้อราสาเหตุชนิดนี้มาก เชื้อสาเหตุสามารถติดไปกับเมล็ดพันธุ์ หรือตกค้างอยู่ในเศษซากพืช เช่น ใบข้าวโพดที่เป็นโรค หรือเมล็ดข้าวโพดจากต้นที่เป็นโรค หรือที่อาศัยอยู่บนพืชอื่น ๆ เช่น ข้าวฟ่าง หญ้าพงหรือแขม หรืออ้อยเลา หรือหญ้าคาหลวง
การป้องกันกำจัด
- ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ได้จากต้นที่ไม่เป็นโรค หรือหลีกเลี่ยงการใช้เมล็ดพันธุ์จากแหล่งที่มีโรคระบาดมาทำพันธุ์
- ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ตากแห้งสนิท (ความชื้นประมาณ 10%) มาทำพันธุ์เพื่อป้องกันเชื้อที่ติดมากับเมล็ดฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีก
- ใช้พันธุ์ต้านทาน เช่น พันธุ์สุวรรณ 1 พันธุ์สุวรรณ 2 พันธุ์นครสวรรค์
- คลุกเมล็ดด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ใช้สารเมตราแลกซิล (35%SD) 7 กรัม/เมล็ด 1 กิโลกรัม โดยคลุกเมล็ดก่อนปลูก

2. แมลงศัตรูที่สำคัญและการป้องกันกำจัด

มอดดิน
ลักษณะและการทำลาย ตัวเต็มวัยเป็นด้วงงวงขนาดเล็ก 2.2x3.5 มิลลิเมตร สีเทาดำ ทำลายกัดกินใบตั้งแต่ต้นอ่อนเริ่มงอกถึงอายุ 10 วัน ทำให้ต้นอ่อนตาย หรือชะงักการเจริญเติบโต ต้นที่รอดตายจะทำให้การเก็บเกี่ยวล่าช้า พบระบาดมากในช่วงต่อฤดูปลูกที่ 2 ซึ่งมักประสบปัญหาฝนแล้ง
การป้องกันกำจัด
- ปลูกข้าวโพดในแหล่งที่มีน้ำเพียงพอ หลีกเลี่ยงการปลูกในปลายฝน
- ทำความสะอาดและกำจัดวัชพืชรอบแปลงปลูกซึ่งจะเป็นพืชอาศัยของแมลง
- ในแหล่งที่ระบาดเป็นประจำ คลุกเมล็ดก่อนปลูกหรือพ่น ป้องกันกำจัดโดยใช้สารคาร์โบซัลแฟน (25%ST) อัตราการใช้ 20 กรัม/เมล็ด 1 กิโลกรัม/น้ำ 20 ลิตร ควรคลุกเมล็ดก่อนปลูก หรือสารคาร์โบซัลแฟน (20%EC) อัตราการใช้ 30 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ใช้พ่นเมื่อข้าวโพดอายุ 10-12 วัน เมื่อพบปริมาณแมลงยังสูงอยู่ ควรหยุดการใช้ก่อนเก็บเกี่ยว 15 วัน

หนอนกระทู้หอม
ลักษณะการทำลาย ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน วางไข่เป็นกลุ่มสีขาวมีขนปกคลุมใต้ใบข้าวโพด หนอนจะทำความเสียหายรุนแรงเมื่ออยู่ในวันที่ 3 ขึ้นไป โดยกัดกินทุกส่วนของข้าวโพดฝักอ่อนในระยะกล้า หนอนโตเต็มที่จะเข้าดักแด้ในดิน
การป้องกันกำจัด
- เก็บกลุ่มไข่และตัวหนอนทำลาย
- แหล่งระบาดเป็นประจำ หากจำเป็นให้ใช้สารป้องกันกำจัดแมลง ป้องกันกำจัดโดยใช้สารนิวเคลียโพลีฮีโดรซิสไวรัส อัตราการใช้ 20-30 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ใช้พ่นในช่วงเวลาเย็นทุก 5 วัน 1-2 ครั้ง เมื่อพบหนอนเฉลี่ย 2-3 ตัว/ต้น หรือสารเบตาไซฟลูทริน (2.5%EC) อัตราการใช้ 40 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ใช้พ่นเมื่อพบหนอนเฉลี่ย 2-3 ตัว/ต้น 12 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน (ในแหล่งที่พบแตนเบียนโคทีเซีย ไม่จำเป็นต้องใช้สารกำจัดศัตรูพืช) ควรหยุดการใช้ก่อนเก็บเกี่ยว 14 วัน
หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด
ลักษณะและการทำลาย ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน วางไข่เป็นกลุ่มซ้อนกันคล้ายเกล็ดปลา เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญที่สุดชนิดหนึ่ง หนอนเจาะทำลายส่วนยอด ช่อดอกตัวผู้ และลำต้น แต่ชอบเจาะเข้าทำลายภายในลำต้นมากกว่าส่วนอื่น ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต หักล้มได้ง่าย เมื่อมีการระบาดมากจะเข้าทำลายฝัก พบระบาดในระยะข้าวโพดอายุ 20 วันถึงเก็บเกี่ยว
การป้องกันกำจัด หมั่นสำรวจกลุ่มไข่ หนอน และยอดที่ถูกทำลาย โดยเฉพาะช่วงข้าวโพดอายุ 20-45 วัน เพื่อทำการป้องกันก่อนที่จะเจาะเข้าไปภายในลำต้น ซึ่งจะทำให้ยากต่อการป้องกัน ป้องกันกำจัดโดยใช้สารไซเพอร์เมทริน (15%EC) อัตราการใช้ 10 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ควรหยุดการใช้ก่อนเก็บเกี่ยว 5 วัน หรือสารไตรฟลูมูรอน (25%WP) 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ควรหยุดการใช้ก่อนเก็บเกี่ยว 14 วัน ใช้พ่นเมื่อพบหนอนเฉลี่ย 2-3 ตัว/ต้น หรือพบกลุ่มไข่ 15 กลุ่ม/ข้าวโพด 100 ต้น หรือพบยอดข้าวโพดถูกทำลาย 40-50%

Sunflower_Man
Jr. Member
Jr. Member
โพสต์: 78
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 06 มิ.ย. 2012 3:45 pm

Re: วิธีปลูกข้าวโพดฝักอ่อน การป้องกันโรคต่างๆ การเก็บเกี่ยว

โพสต์โดย Sunflower_Man » เสาร์ 14 ก.ค. 2012 6:26 pm

3 วัชพืชและการป้องกันกำจัด

วัชพืชฤดูเดียว เป็นวัชพืชที่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
- วัชพืชประเภทใบแคบ ได้แก่ หญ้านกสีชมพู หญ้าตีนติด หญ้าตีนนก หญ้าปากควาย และหญ้าไม้กวาด เป็นต้น
- วัชพืชประเภทใบกว้าง ได้แก่ ผักโขม ผักเบี้ยหิน ผักเบี้ยใหญ่ หญ้ายาง เทียนนา หญ้ากำมะหยี่ โทงเทง สะอึก ตดหนูตดหมา และสาบแร้งสาบกา เป็นต้น
กำจัดวัชพืชโดยใช้สารอะลาคลอร์ (48%EC) อัตราการใช้ 150 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร หรือสารเมโทลาคลอร์ (40%EC) 125-150 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ใช้พ่นเมื่อคุมการงอกของเมล็ดวัชพืช

วัชพืชข้ามปี เป็นวัชพืชที่ขยายพันธุ์ด้วยหัวที่พบมากในไร่ข้าวโพด ได้แก่ แห้วหมู และกก

การป้องกันกำจัด
- ไถดิน 1-2 ครั้งก่อนปลูก ตากดินทิ้งไว้ 7 วัน
- ใช้แรงงานหรือเครื่องกลกำจัดวัชพืชระหว่างแถวปลูก และพรวนดินหลังการใส่ปุ๋ยเมื่อข้าวโพดอายุ 30 วัน
กำจัดวัชพืชโดยใช้สารไกลโพเสท (48%EC) อัตราการใช้ 125-150 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ควรใช้เชือก (ropewick) ชุบสารลากให้ระไปกับใบในขณะที่วัชพืชมีใบมากที่สุด
การใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างเหมาะสม
- ตรวจอุปกรณ์เครื่องพ่นอย่าให้มีรอยรั่ว เพราะจะทำให้สารพิษเปียกเปื้อนเสื้อผ้า และร่างกายของผู้พ่นได้
- ต้องสวมเสื้อผ้าและรองเท้าให้มิดชิด รวมทั้งสวมหน้ากาก หรือผ้าปิดจมูก และศรีษะเพื่อป้องกันอันตรายจากสารพิษ
- อ่านฉลากคำแนะนำ คุณสมบัติ และการใช้ ก่อนทุกครั้ง
- ควรพ่นในช่วงเช้าหรือเย็นขณะลมสงบ หลีกเลี่ยงการพ่นในเวลาแดดจัด หรือลมแรง และผู้พ่นต้องอยู่เหนือลมตลอดเวลา
- ควรเตรียมสารเคมีให้ใช้หมดในคราวเดียว ไม่ควรเหลือติดค้างในถังพ่น
- เมื่อเลิกใช้ควรปิดฝาภาชนะบรรจุสารเคมีให้สนิท เก็บไว้ในที่มิดชิด ห่างจากสถานที่ปรุงอาหาร แหล่งน้ำ และต้องปิดกุญแจโรงเก็บตลอดเวลา
- ภายหลังการพ่นสารกำจัดศัตรูพืชทุกครั้ง ผู้พ่นต้องอาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที เสื้อผ้าที่ใส่ขณะพ่นสารต้องซักให้สะอาดทุกครั้ง
- ไม่เก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนสารเคมีที่ใช้จะสลายตัวถึงระดับปลอดภัย
- ทำลายภาชนะบรรจุสารเคมีที่ใช้หมดแล้ว อย่าทิ้งตามร่องสวน หรือทั้งลงแม่น้ำลำคลอง

การใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช

เครื่องพ่น นิยมใช้มี 2 ชนิด ได้แก่
- เครื่องพ่นแบบสูบโยกสะพายหลัง
- เครื่องยนต์พ่นสารชนิดใช้แรงดันของเหลว
วิธีการใช้
- เครื่องพ่นแบบสูบโยกสะพายหลัง ใช้อัตราการพ่น 60-80 ลิตร/ไร่ ใช้หัวฉีดแบบกรวยขนาดเล็ก (เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.6 มม.) สำหรับการพ่นสารฆ่าแมลง และสารป้องกันกำจัดโรคพืช และใช้หัวฉีดแบบพัด หรือแบบปะทะ สำหรับการพ่นสารกำจัดวัชพืช
- การพ่นสารกำจัดวัชพืชควรแยกเครื่องพ่นเฉพาะ ไม่ใช้ปนกับสารกำจัดศัตรูพืชชนิดอื่น ๆ และหลังพ่นไม่ควรรบกวนผิวหน้าดิน ขณะพ่นกดหัวพ่นต่ำเพื่อให้ละอองสารเคมีตกลงบนพื้นที่ที่ต้องการควบคุมวัชพืชเท่านั้น ระวังการพ่นซ้ำแนวเดิม เพราะจะทำให้สารลงเป็น 2 เท่า
- เครื่องยนต์พ่นสารชนิดใช้แรงดันของเหลว ใช้อัตราการพ่น 80-120 ลิตร/ไร่ ใช้หัวฉีดแบบกรวยขนาดกลาง (เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.0-1.2 มม.) ปรับความดันในระบบการพ่นไว้ที่ 10 บาร์ หรือ 150 ปอนด์/ตารางนิ้ว เหมาะสำหรับการพ่นสารฆ่าแมลงและสารป้องกันกำจัดโรคพืช
- ถ้าเป็นหัวฉีดแบบกรวยชนิดปรับได้ ควรปรับให้ได้ละอองกระจายกว้างที่สุดซึ่งจะได้ละอองขนาดเล็กสม่ำเสมอ
- ใช้ความเร็วการเดินพ่นประมาณ 1 ก้าว/วินาที และทำการพ่นให้คลุมทั้งต้น ไม่ควรพ่นจี้นานเกินไปเพราะจะทำให้น้ำยาโชกและไหลลงดิน
- เริ่มทำการพ่นจากทางใต้ลมก่อน และขยายแนวการพ่นขึ้นเหนือลม ขณะเดียวกันหันหัวฉีดไปทางใต้ลมตลอดเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมี
- การพ่นควรพลิก-หงายหัวฉีดขึ้น-ลง เพื่อให้ละอองแทรกเข้าทรงพุ่มได้ดีขึ้น โดยเฉพาะด้านใต้ใบ

2. การผลิตข้าวโพดฝักอ่อนที่มีคุณภาพ

การเตรียมดิน
- วิเคราะห์ดินก่อนปลูก เพื่อตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน อินทรียวัตถุในดิน ตรวจความเป็นกรดด่างของดิน ถ้ากรดต่ำกว่า 5.5 ให้ใส่ปูนขาวอัตรา 100-200 กิโลกรัม
- ไถกลบต้นข้าวโพดด้วยผาลสามลึก 30 เซนติเมตร ตากดิน 7-10 วัน
- ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก อัตรา 500-1,000 กิโลกรัม/ไร่
- ไถพรวนด้วยผาลเจ็ดอีก 1 ครั้ง เพื่อปรับพื้นที่ เก็บวัชพืชออกจากแปลง
- ไถยกร่องลูกฟูกเพื่อปลูกข้าวโพด

อัตราปลูกที่เหมาะสม
- การใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนอัตรา 3-5 กิโลกรัม/ไร่ เมล็ดมีความงอกสูงกว่า 85% จำนวนต้นที่เหมาะสมประมาณ 20,000-28,000 ต้น/ไร่

วิธีปลูก

ในสภาพไร่หรือนา
ปลูกแถวเดี่ยว ไถยกร่องลูกฟูกสูง 30-40 เซนติเมตร ระยะระหว่างร่อง 50-60 เซนติเมตร หรือปรับระยะตามความเหมาะสมของเครื่องมือหรือเครื่องจักรที่นำไปหยอดเมล็ด โดยระยะระหว่างหลุม 25-30 เซนติเมตร หลุมละ 3 เมล็ด (ระยะ 50x30 เซนติเมตร หลุมละ 2 ต้น จะได้ 20,388 ต้น ถ้าระยะ 60x30 เซนติเมตร หลุมละ 3 ต้น จะได้ 28,848 ต้น)

ปลูกแถวคู่ โดยยกร่องลูกฟูกสูง 30-40 เซนติเมตร ระยะระหว่างสันร่อง 100-125 เซนติเมตร หยอดเมล็ดข้างร่องสลับฟันปลา ระยะระหว่างหลุม 30 เซนติเมตร จำนวน 2-3 เมล็ด อายุ 14 วัน ถอนเหลือหลุมละ 2 ต้น

ในสภาพร่องสวน
ปลูกแบบยกร่อง สันร่องอาจกว้าง 2-3 เมตร ใช้ระยะปลูกระหว่างแถว 50 เซนติเมตร ระหว่างหลุม 50 เซนติเมตร หยอด 3-4 เมล็ด เมื่ออายุ 14 วัน ถอนเหลือหลุมละ 3 ต้น

การดูแลรักษา

1. การให้ปุ๋ย
- ดินที่มีอินทรียวัตถุต่ำกว่า 1.5% ให้ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักอัตรา 500-1,000 กิโลกรัม โดยหว่านกระจายทั่วแปลงแล้วไถคราดกลบด้วยผาลเจ็ด ในกรณีดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย ใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 สำหรับดินร่วนปนทรายใส่สูตร 15-15-15 อัตรา 30-50 กิโลกรัม/ไร่
- เมื่อข้าวโพดมีอายุ 20 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 25 กิโลกรัม/ไร่ โดยโรยข้างต้นหรือข้างแถวแล้วพรวนดินกลบ
- เมื่อถอดเกสรตัวผู้แล้วใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 25 กิโลกรัม/ไร่ โดยโรยข้างแถวหรือข้างต้น (ในกรณีที่ต้นข้าวโพดไม่สมบูรณ์)

2. การให้น้ำ
- ให้น้ำทันทีหลังปลูกและหลังใส่ปุ๋ยทุกครั้ง แล้วจากนั้นถ้าไม่มีฝนตกให้น้ำทุก 3-5 วัน
- ในกรณีใบข้าวโพดเหี่ยวหรือม้วนในช่วงเช้าหรือเย็น ต้องให้น้ำทันทีโดยเฉพาะในฤดูแล้ง
- ข้าวโพดฝักอ่อนไม่ชอบน้ำท่วมขังเกิน 24 ชั่วโมง ต้องรีบระบายน้ำออกจากแปลงทันทีเพราะจะทำให้ต้นชะงักจากเจริญเติบโตและผลผลิตลดลง คุณภาพไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

3. การถอดช่อดอกตัวผู้
- เมื่อข้าวโพดฝักอ่อนมีอายุประมาณ 42-45 วัน หรือเริ่มออกดอกตัวผู้ให้ดึงช่อดอกจะทำให้ฝักอ่อนเจริญเติบโตดีและเก็บได้เร็วขึ้น
- หลังดึงช่อดอกตัวผู้แล้ว 3-5 วัน ก็เริ่มเก็บฝักแรกได้

การเก็บเกี่ยว

1. ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม
- เก็บฝักอ่อนฝักบนสุดก่อน โดยนับอายุหรือสังเกตเมื่อไหมปลายฝักยาว 1-5 เซนติเมตร หรือมีสีเข้ม ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ตามรายละเอียดของพันธุ์ หรือสุ่มปอกเปลือกดูขนาดของฝักอ่อนตามมาตรฐาน
- การเก็บฝักอ่อนหลังระยะที่เหมาะสม จะทำให้ฝักใหญ่เกินไปไม่ได้มาตรฐาน ตามที่ตลาดหรือโรงงานต้องการ

2. วิธีเก็บเกี่ยว
- ใช้มือหักฝักอ่อนให้ถึงบริเวณก้านฝักที่ติดลำต้น โดยเริ่มเก็บฝักบนก่อน
- ต้องเก็บให้หมดภายใน 5-7 วัน เพื่อให้ได้ฝักขนาดมาตรฐาน
- หลังเก็บฝักอ่อนหมดแล้ว ให้ไถกลบต้นข้าวโพดเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสดทันที เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ทำให้ดินร่วนขึ้น

pantip
Sr. Member
Sr. Member
โพสต์: 472
ลงทะเบียนเมื่อ: เสาร์ 25 มิ.ย. 2016 12:50 am
ติดต่อ:

Re: วิธีปลูกข้าวโพดฝักอ่อน การป้องกันโรคต่างๆ การเก็บเกี่ยว

โพสต์โดย pantip » เสาร์ 20 พ.ค. 2017 2:41 am

ชอบ ทาน แต่ปลูกเอง กว่าจะได้ทาน นาน และใช้พื้นที่เยอะ


ย้อนกลับไปยัง

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: 56 และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน