พันธุ์ไผ่ วิธีการขยายพันธุ์ ใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง ปลอดภัย

รวมความรู้ ทิป และเทคนิคทั่วไป
Sunflower_Man
Jr. Member
Jr. Member
โพสต์: 78
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 06 มิ.ย. 2012 3:45 pm

พันธุ์ไผ่ วิธีการขยายพันธุ์ ใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง ปลอดภัย

โพสต์โดย Sunflower_Man » เสาร์ 14 ก.ค. 2012 4:39 pm

พันธุ์ไผ่ วิธีการขยายพันธุ์ ใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง ปลอดภัย
ต้นไผ่.jpg
ต้นไผ่
ต้นไผ่.jpg (174.48 KiB) เปิดดู 2883 ครั้ง

1 การผลิตหน่อไม้ที่มีคุณภาพ

1.1 พันธุ์ไผ่

- ไผ่ตงดำ ไผ่ตงชนิดนี้จะมีลำต้นเขียวอมดำใบสีเขียวเข้มหนาใหญ่และมองเห็นร่องใบได้ชัดเจน หน่อจะมีขนาดปานกลาง น้ำหนักโดยเฉลี่ย 3-6 กิโลกรัม หน่อไม้ชนิดนี้จะมีรสชาติหวานกรอบ เนื้อเป็นสีขาวละเอียดและไม่มีเสี้ยน จึงเป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกเพื่อผลิตหน่อและทำไผ่ตงหมก ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มคุณภาพของหน่อให้ดีขึ้นไปอีก ไผ่ตงพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ที่ให้หน่อที่มีคุณภาพจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ในชื่อ “ไผ่ตงหวาน”

- ไผ่ตงเขียว ไผ่ตงชนิดนี้จะมีลำต้นเล็กและสั้นกว่าไผ่ตงดำ สีของลำต้นจะเป็นสีเขียวเนื้อไม้บาง ไม่ค่อยแข็งแรง ถ้ามีลมแรง ๆ จะทำให้หักพับลงมาได้ง่าย ใบบาง สีเขียวเข้ม จับแล้วมือไม่สาก น้ำหนัก 1- 4 กิโลกรัม หน่อไม้ตงชนิดนี้จะมีรสชาติหวานอมขื่นเล็กน้อย เนื้อเป็นสีเขียวอมเหลือง นอกจากนี้แล้วไผ่ตงเขียวยังทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี เหมาะที่จะปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงนิยมปลูกกันมากเช่นเดียวกับไผ่ตงดำ

- ไผ่ไร่ เป็นไผ่ขนาดเล็ก ลำขึ้นแน่นกอ ลำมีสีเขียวแกมเทา ลำจะโค้งมีความสูง ประมาณ 3-4 เมตร ไม่มีหนาม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15-30 ซม. ข้อนูนเห็นได้ชัด ปล้องยาวประมาณ 15-40 ซม. มีขนสั้น ๆทั่วปล้อง ผิวสาก ลำด้านมีความเรียว เนื้อไม้ไผ่ไร่จะหนา เนื้อตันจึงขึ้นชื่อว่า Solid bambooใช้หน่อเป็นอาหาร หน่อไม้ไผ่ไร่เป็นอาหารที่นิยมกันมาก เมื่อต้มแล้วจะได้รสชาติดี โดยเฉพาะหน่อที่ยังไม่โผล่ พ้นดิน ช่วงเวลาออกหน่อยาวนาน ตั้งแต่ต้นฤดูฝนจนถึงปลายฤดูฝน จึงเป็นพืชเศรษฐกิจและพื้นอาหารที่สำคัญของชาวชนบท

- ไผ่สีสุก ขึ้นเป็นกอแน่นมาก บริเวณโคนแต่ละลำจะมีการแตกกิ่งเป็นข้อตั้งฉากกับลำเป็นจำนวนมาก ที่เป็นจุดเด่นคือบริเวณข้อของกิ่งจะมีหนามแหลมคม โค้งแตกเป็นกลุ่ม ๆ ละ 3 อัน อันกลางจะยาวกว่าอันอื่น บริเวณโคนปล้องจะหนา เป็นไผ่ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำยาว 15-25 เมตร ความโตของลำ 10-20 ซม. ผิวเรียบเป็นมัน ข้อไม่พองออกมา ลำเมื่ออ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จะมีสีเหลืองปนเขียว จึงได้ขึ้นชื่อว่าไผ่สีสุก หน่อไผ่เมื่ออยู่ใต้ดินจะรสดีกว่า เมื่อโผล่พ้นดิน มักนิยมนำมาทำหน่อไม้ดอง มีสีขาวรสเปรี้ยวเก็บได้นาน

- ไผ่ซาง เป็นไผ่ไม่ผลัดใบลำต้นสีเขียวอ่อนไม่มีหนามมีความสูง 6-18 เมตรมีความโต 3-9 เซนติเมตร เมื่อยังอ่อนลำมีสีเขียวนวล แต่เมื่อแก่จะมีสีเขียวด้านหรืออมเหลือง ข้อจะพองเล็กน้อยปล้องยาว 15-50 เซนติเมตร ปล้องมีเนื้อหนาโดยเฉพาะตอนโคน หน่อนิยมนำมาทำอาหารรสดีกว่าหน่อไผ่ตงแต่ขนาดเล็กกว่า

- ไผ่รวก ขึ้นเป็นกอแน่น ลำต้นขนาดเล็กลำสูง 7-15 เมตร ตรงเปลามีกิ่งเรียวเล็กบริเวณปลายลำ ความโตของปล้องประมาณ4-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร บริเวณโคนเนื้อหนาเกือบตัน แต่ถัดขึ้นมาเนื้อจะบางกาบหุ้มลำสีฟางข้าว บางอ่อน จะหุ้มอยู่นาน หน่อไม้ไผ่รวกนำมาทำเป็นอาหารประเภทต้มหรือแกง และนิยมนำมาต้มอัดปิ๊บไว้ขายนอกฤดูกาล

Sunflower_Man
Jr. Member
Jr. Member
โพสต์: 78
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 06 มิ.ย. 2012 3:45 pm

Re: พันธุ์ไผ่ วิธีการขยายพันธุ์ ใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง ปลอดภัย

โพสต์โดย Sunflower_Man » เสาร์ 14 ก.ค. 2012 4:39 pm

1.2 การขยายพันธุ์
สามารถขยายพันธุ์ได้โดยอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ เมล็ดส่วนใหญ่ของไผ่จะไม่สมบูรณ์ เปอร์เซนต์ความงอกต่ำ จึงขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่น เช่น กิ่งแขนง ลำ หรือเหง้า ซึ่งได้ผลดี เร็วและสะดวก

การใช้เมล็ด
วิธีนี้เหมาะที่จะใช้ปรับปรุงพันธุ์ไผ่ให้ดี แต่ช่วงเวลาการออกดอกของไผ่ตงไม่แน่นอน การเพาะจะเริ่มจากเก็บเมล็ดแก่และร่วงไปเพาะในแปลงหรือกระบะเพาะ เมื่องอกจึงย้ายลงชำในถุงพลาสติกแล้วในไปปลูกในปีถัดไป

การใช้เหง้า (การแยกกอหรือการใช้หน่อเหง้า)
เป็นวิธีที่ได้ผลดี ทำโดยการเลือกกล้าแม่ที่มีอายุ 1-2 ปี ตัดให้ตอสูงประมาณ 1 เมตร ทำการขุด
เหง้านำไปปลูกลงในหลุมปลูกที่เตรียมไว้ ส่วนหน่อเหง้าที่เป็นหน่อขนาดเล็กขึ้นติดกับลำแม่สามารถแยกกอไปปลูกได้เช่นเดียวกัน

การใช้ลำ
เลือกลำมีอายุ 1-2 ปี อย่าให้ลำแก่จนเกินไป นำลำที่ต้องการแล้วมาตัดเป็นท่อนๆ แต่ละท่อนมี 1-2 ข้อ ให้ข้ออยู่กลางลำไผ่แล้วนำไปชำในแปลงเพาะให้ข้ออยู่ระดับผิวดินแล้วใส่น้ำลงไปในข้อปล้องที่เหลือเหนือดินให้เต็ม

การใช้กิ่งแขนง
คือกิ่งที่แตกมาจากบริเวณตาหรือข้อของลำต้น เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุดเพราะสะดวกรวดเร็วและประหยัด

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
เป็นการนำต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ดมาขยายพันธุ์ให้ได้ปริมาณมาก ๆ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนต้นพันธ์ แต่การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต้องอาศัยขั้นตอนและเทคนิคมาก

การขยายพันธุ์โดยใช้วิธีการตอน
เป็นวิธีที่กำลังได้รับความนิยมมากในปัจจุบันเพราะทำได้สะดวก รวดเร็ว อัตราการรอดตายสูงค่าใช้จ่ายต่ำ

1.3 การเตรียมดินและการปลูก

การเตรียมดิน
- ทำการไถดะ ไถพรวน เพื่อไถกลบวัชพืช ปรับสภาพพื้นดินให้ร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี
- กำหนดระยะปลูก ระหว่างแถว ในแนวตะวันออก-ตก
- ขุดหลุมตามระยะที่กำหนดไว้ให้กว้าง 50 ซม. ยาว 50 ซม. ลึก 50 ซม.
- ผสมดินใส่ในหลุมปลูกด้วยปุ๋ยคอกเก่า หรือปุ๋ยหมัก กับดิน(หน้าดิน) ให้เหมาะสมไม่ควรใส่ปุ๋ยคอกใหม่ เพราะจะเกิดความร้อนระอุขึ้นในหลุมเป็นเหตุให้ต้นกล้าตาย
- หากปลูกไผ่แซมลงในแปลงพืชไร่อื่นๆ ที่ปลูกอยู่ก่อนแล้ว ควรปลูกให้ห่างจากแถวพืชไร่จากหลุมที่ปลูกไผ่ประมาณ 1 เมตร โดยรอบ

การปลูก
-ใส่ปุ๋ยยูเรียหรือปุ๋ยสูตร 15-15-15 หลังจากปลูก 1-2 เดือน โดยใช้ปุ๋ย 1 ช้อนแกงต่อหลุม โรยคลุกกับดินให้เข้ากันโดยรอบกล้าไผ่รัศมี 30 ซม.
- กำจัดวัชพืชสม่ำเสมอ วัชพืชจะแย่งอาหาร บังแสงแดด ทำให้กล้าไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร
- ป้องกัน กำจัดแมลงที่สำคัญ ได้แก่ ปลวก ใช้ฟูราดาน หรือ ดีลดริน ตามคำแนะนำในฉลาก
- ในช่วงฤดูฝน ถ้ามีน้ำขังในหลุมจะทำให้ไผ่ตาย ให้ช่วยระบายน้ำออก
- หากฝนทิ้งช่วงนาน ควรรดน้ำช่วย อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

การให้น้ำ
การปลูกไผ่ในระยะแรกจะต้องคอยดูแลรดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ หลังจากนั้นเมื่อไผ่ตั้งตัวได้ดี(อายุเกิน 1 ปี) อาจเว้นระยะการให้น้ำได้บ้าง เพราะต้นไผ่จะแข็งแรงและทนต่อสภาพแล้งได้ดีขึ้น ซึ่งปริมาณการให้น้ำจะอยู่กับสภาพดิน ความชื้นของดิน และในช่วงฤดูแล้งควรหาวัสดุ เช่นหญ้าแห้ง ฟางแห้ง คลุมบริเวณโคนต้นเพื่อรักษาความชื้นให้กับดิน

การใส่ปุ๋ย
ในช่วงปีแรก ไผ่สามารถใช้ธาตุอาหารจากปุ๋ยที่ใส่คลุกเคล้ากับดินที่ปลูกได้ แต่หลังจากนั้นเมื่อไผ่เจริญเติบโตและตั้งตัวได้แล้ว จะต้องมีการไถพรวนดินเพื่อกำจัดวัชพืชในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ก่อนที่ดินจะแห้งเดือนเมษายน โดยใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักในดิน อัตรา1-1.5 ตันต่อไร่ (ประมาณ 40-50 กิโลกรัม หรือ 4-5 บุ้งกี่ต่อก่อ)

การไว้ลำและการแต่งกอ
ระยะที่ 1 เมื่อไผ่มีอายุได้ประมาณ 1 ปี จะเริ่มมีการแทงหน่อ 5-6 หน่อ ในระยะนี้ยังไม่ควรตัดหน่อโดยเด็ดขาด ควรปล่อยให้เป็นลำต่อไป และให้ตัดกิ่งแขนงเล็ก ๆ บริเวณโคนต้นทิ้ง
ระยะที่2 เมื่อไผ่ มีอายุได้ 2 ปี จะมีหน่อแทงขึ้นมา 5-6 หน่อ ในปีนี้จะไม่มีการตัดหน่อปล่อยให้เป็นลำต่อไป
ระยะที่ 3 เมื่อไผ่มีอายุได้ 3 ปี จะมีลำประมาณ 10-12 ลำ และมีหน่อพอที่จะตัดขายได้ ควรเริ่มตัดหน่อจากกกลางแล้วขยายวงออกมารอบนอกกอ ส่วนหน่อที่อยู่รอบนอกควรรักษาไว้เป็นลำแม่

การตัดหน่อ
ไผ่ที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป จะสามารถตัดหน่อได้ทุก 4-5 วัน แต่ถ้ามีการบำรุงรักษาที่ดีจะสามารถตัดได้วันเว้นวัน ควรตัดหน่อในเวลาเช้ามืดเพื่อจะส่งตลาดในเวลาเช้า ถ้าทิ้งไว้นานความหวานจะลดลง

2 การจัดการเพื่อให้ได้ผลผลิตหน่อไม้ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง

2.1 การป้องกันกำจัดศัตรูพืช เน้นการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน เช่น วิธีกล วิธีการเขตกรรม วิธีชีวภาพ รวมทั้งวิธีใช้สารเคมี ทั้งนี้ให้พยายามใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด

2.2. การใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างเหมาะสม ควรปฏิบัติดังนี้
- ห้ามใช้สารเคมีที่ขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตรายตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 รายชื่อวัตถุอันตรายห้ามใช้ในการเกษตร และต้องใช้สารเคมีให้สอดคล้องกับรายการสารเคมีที่ประเทศคู่ค้าอนุญาตให้ใช้
-ให้เลือกใช้ในชนิด อัตรา และระยะเวลาตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ตรวจสอบเครื่องพ่นสารให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา เพื่อป้องกันสารพิษเปื้อนเสื้อผ้าและร่างกายของผู้พ่น
- สวมเสื้อผ้าอุปกรณ์ป้องกันสารพิษ ได้แก่ หน้ากากหรือผ้าปิดจมูก ถุงมือ หมวกและรองเท้า
- เตรียมสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชและใช้ให้หมดในคราวเดียว ไม่ควรเหลือติดค้างในถังพ่น
- ควรพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในช่วงเช้าหรือเย็นขณะลมสงบ หลีกเลี่ยงการพ่นในเวลาแดดจัดหรือลมแรง และขณะปฏิบัติงานผู้พ่นต้องอยู่เหนือลมตลอดเวลา
- ต้องหยุดใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชก่อนการเก็บเกี่ยวตามเวลาที่ระบุตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
- ปิดฝาภาชนะบรรจุสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้สนิทเมื่อเลิกใช้ และเก็บในสถานที่เก็บสารเคมีที่มิดชิด และปลอดภัย
- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชทุกครั้ง ผู้พ่นต้องอาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที เสื้อผ้าที่ใส่ขณะพ่นสารต้องซักให้สะอาดทุกครั้ง
- ภาชนะบรรจุสารเคมีที่ใช้หมดและล้างสารเคมีออกหมดตามคำแนะนำ ต้องไม่นำกลับมาใช้อีกและต้องทำให้ชำรุดเพื่อป้องกันการนำกลับมาใช้อีก แล้วนำไปทิ้งในสถานที่ที่จัดไว้สำหรับทิ้งภาชนะบรรจุสารเคมีโดยเฉพาะ หรือทำลายโดยการฝังดินห่างจากแหล่งน้ำ และให้มีความลึกมากพอที่สัตว์ไม่สามารถ.คุ้ยขึ้นมาได้ ห้ามเผาทำลาย
- จดบันทึกการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง

3 หน่อไม้ปลอดจากการใช้สารฟอกขาวที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
การผลิตหน่อไม้สดในปัจจุบัน มีพ่อค้าบางคนพยายามพลิกแพลงค้นหาวิธีการทำให้สินค้าหน่อไม้สดดูสวยงาม น่ารับประทานและขายได้ราคาสูง โดยฉวยโอกาส นำรสนิยมในการบริโภคของเกษตรกร ที่นิยมบริโภคหน่อไม้ตงหมกหรือตงหวาน ซึ่งเป็นหน่อไม้ที่เนื้ออวบ เนื้อขาว อ่อน นิ่มหวานกรอบและไม่มีเสี้ยน ซึ่งได้จากการที่เกษตรกรนำถุงดำมาบรรจุขี้เถ้าแกลบหรือแกลบเก่า ๆ นำมาบรรจุถุงขนาด 18x20 นิ้ว โดยรดน้ำขี้เถ้าแกลบให้ชุ่มน้ำก่อน แล้วนำมาครอบบนหน่อไม้ตงที่โผล่จากดินประมาณ 1 ฝ่ามือหรือสูงประมาณ 2-4 นิ้ว แล้วจะตัดหน่อไม้เมื่อสังเกตว่ายอดของหน่อไม้โผล่แทงถุงหรือยอดดันก้นถุงขึ้นมา จะสามารถสังเกตความแตกต่างระหว่างสีของหน่อไม้ตงหมกจะมีสีน้ำตาลอมเหลืองส่วนหน่อไม้ตงธรรมดาจะมีสีน้ำตาลอมดำ ซึ่งการทำหน่อไม้ตงหมก ก็คือการป้องกันไม่ให้หน่อไม้ถูกแสงแดดนั่นเอง ซึ่งทำให้รสชาติหวานกรอบ เนื้อขาว อ่อนนิ่ม โดยหลังจากตัดมาแล้วให้บริโภคในทันทีไม่ข้ามวัน แต่มีพ่อค้าบางคนฉวยโอกาสปลอมแปลง โดยพยายามทำให้ไผ่ตงมีสีขาวหลอกผู้บริโภคว่าเป็นไผ่ตงหมก โดยการนำหน่อไม้มาขัดด้วยแปรงให้ดูสีสันดีและนำมาแช่สารโซเดียมไดไทโอไนท์ และโซเดียมเมตาไบซัลไฟด์ เพื่อให้มี สีขาว ซึ่งอาจมีผลตกค้างเป็นอันตรายกับผู้บริโภคได้ หากใช้ในปริมาณมาก และยังไม่มีข้อกำหนด ในการใช้กับหน่อไม้ว่าควรเป็นเท่าใด โดยเฉพาะควรห้ามใช้สารโซเดียมไดไทโอไทด์กับหน่อไม้ เนื่องจากเป็นสารฟอกสีชนิดรุนแรงซึ่งใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมฟอกสีต่าง ๆ

pantip
Sr. Member
Sr. Member
โพสต์: 472
ลงทะเบียนเมื่อ: เสาร์ 25 มิ.ย. 2016 12:50 am
ติดต่อ:

Re: พันธุ์ไผ่ วิธีการขยายพันธุ์ ใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง ปลอดภัย

โพสต์โดย pantip » เสาร์ 20 พ.ค. 2017 2:42 am

ที่บ้านเอามาปลูกวไว้เหมือนกัน ทำให้บ้าน ร่มดี
พันเล็กๆ ทานหน่อได้ น่าสนใจนะครับ


ย้อนกลับไปยัง

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: 54 และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน